ประวัติ ของ คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค พรรคไทยรักไทยร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน

กกต. มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วยกัน และได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มีจำนวน 9 คน [1] ขณะเดียวกันได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

คำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย [2]

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยารองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นและร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541

โดยระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549 พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ นายทหารคนสนิทของพล.อ.ธรรมรักษ์ ได้มอบเงินรวม 3,675,000 บาท แก่นางฐัติมา ภาวะลี ผู้ประสานงานพรรคแผ่นดินไทย เป็นค่าใช้จ่าย ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ได้ร่วมกับนายทวี สุวรรณพัฒน์ นายยุทธพงศ์หรือนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์และนายธีรชัยหรือต้อย จุลพัฒน์ มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้ นาย ชก. โตสวัสดิ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อนำไปให้นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ไปใช้จ่ายในการนำสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง และใน วันที่ 6 และวันที่ 8 มีนาคม 2549 นายทวีได้นำเงินไปให้นาย ชก. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพัฒนาชาติไทยรวม 1,190,000 บาท การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย ขอให้ มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ข้อ 3

คำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ [3][4]

  1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่ท้องสนามหลวง กล่าวหาการบริหารงานของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น "ระบอบทักษิณ" ใส่ร้าย พ.ต.ท. ทักษิณ ด้วยข้อความเท็จว่า ระบอบทักษิณ ทำลายประชาธิปไตยแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท. ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
  2. นายทักษะนัย กี่สุ้น ผู้ช่วยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นำ น.ส. นิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ราษฎร จ.ตรัง เพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แล้วไปลงสมัคร ส.ส. ที่ จ.ตรัง โดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จว่า เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ไม่น้อยกว่า 90 วัน แล้วใส่ร้ายว่า กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
  3. นายไทกร พลสุวรรณ ในฐานะตัวแทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจ้างให้นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า แถลงข่าวใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างสมาชิกพรรคชีวิตที่ดีกว่าลงสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จ
  4. สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อยู่เบื้องหลังร่วมกันขัดขวางการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรับสมัคร จ.สงขลา

อัยการสูงสุด เห็นว่าการกระทำตามข้อ 1-4 เป็นการกระทำของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค เพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 66 (2) และ (3)

คำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยนางสาวอิสราหรือ พรณารินทร์ ยงค์ประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคและเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)

คำร้องให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย

โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคพัฒนาชาติไทย โดยนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยและเป็นผู้แทนของพรรคกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2)

คำร้องให้ยุบพรรคแผ่นดินไทย

โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่าพรรคแผ่นดินไทย โดยนายบุญอิทธิพลหรือบุญบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)

แหล่งที่มา

WikiPedia: คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 http://www.baanjomyut.com/library/law/98.html http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/25/WW10_WW10... http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/06/WW10_WW10... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://www.komchadluek.net/2007/05/31/a001_120817....